วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2553

Reformation , Martin Luther และดนตรีตะวันตก


ในช่วง ศตวรรษที่ 16 ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วง Late Renaisance มีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นคือ การปฏิรูปศาสนา (Reformation) โดยนักบวชชาวเยอรมันชื่อ Martin Luther เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ โดยมีสาเหตุจาก ศาสนจักรในช่วงนี้กำลังเสื่อมถอยลงเนื่องจากพฤติกรรมของพวกพระหรือแม้กระทั่งพระสันตะปาปาเอง ผู้ที่มีอำนาจทางศาสนาเหล่านั้นต่างใช้อำนาจศาสนาในทางที่ผิดเช่น การขายใบใถ่บาป ซึ่งผู้ที่มีฐานะสามารถใถ่บาปได้แต่ผู้คนที่ยากจนนั้นไม่สามารถใถ่บาปได้เพราะไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน หรือการที่พระคาร์ดินัลและบิชอปต่างทำตัวหรูหราฟุ่มเฟือยในขณะที่ประชาชนยากจน นักบวชอยากมีภรรยา และที่ปรากฎความเลวร้ายที่ชัดเจนที่สุดคือการซื้อขายตำแหน่งกัน แม้กระทั่งพระสันตะปาปาบางพระองค์ได้รับการครหาว่าติดสินบนเช่นกัน
แต่ยังมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยอยู่หลายคนและเริ่มออกมาคัดค้านการกระทำนี้ แต่ศาสนจักรมีอำนาจมากมาย ผู้ที่กล้าออกมาคัดค้านทั้งหลายจึงถูกหาว่าเป็นพวกนอกศาสนาและถูกจับประหารชีวิตไปหลายคน แต่ Martin Luther สามารถแผ่ขยายอิทธิพลได้อย่างกว้างขวางจนสามารถแยกตัวออกมาเป็นอีกนิกายคือนิกายโปรแตสแตนท์ได้สำเร็จ
จุดเริ่มต้นคือ Martin Luther ได้เดินทางเข้าสู่กรุงโรมและได้เห็นความเสื่อมโทรมนี้ เมื่อเขากลับไปเยอรมัน เขาได้เขียนเอกสารการโจมตีการกระทำอันชั่วร้ายต่างๆนานา มาติดที่ประตูของวิหารวิทเทนเบิร์ก หลังจากนั้นชาวเยอรมันต่างได้รับรู้ถึงความเลวร้ายมากขึ้นด้วยการเผยแพร่โดยเทคโนโลยีการพิมพ์ในสมัยนั้น เมื่อพระสันตะปาปาทราบข่าวจึงออกคำสั่งให้ Martin Luther หยุดการกระทำเหล่านั้นแต่เขาได้ปฏิเสธที่จะทำตาม พระสันตปาปาจึงออกคำสั่งบูลล์เพื่อคว่ำบาตรและขับไล่ออกจากศาสนจักร แต่ Martin Luther และผู้สนับสนุนได้เผาคำสั่งนั้นกลางตลาดวิทเทนเบิร์ก เขาจึงถูกประนามว่าเป็นพวกนอกศาสนา
แนวคิดพื้นฐานของ Martin Luther มีอยู่ว่ามนุษย์สามารถหลุดพ้นก็โดยมีศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นและเมื่อเป็นเช่นนั้นจึงไม่ต้องการพระหรือการบริการของศาสนจักรคาทอลิกมาคั่นขวางระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า
เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใจถึงคำสอนได้อย่างแท้จริงและไม่ตกเป็นเหยื่อของเหล่าพระผู้ละโมบที่ต้องการหาประโยชน์จากศาสนา Martin Luther จึงได้แปลพระคัมภีร์ไบเบิ้ลทั้งหมดเป็นภาษาเยอรมันเรียกว่า German new Testament เพื่อให้ง่ายต่อประชาชนจะเข้าใจได้ ภายหลังอังกฤษเองก็ใช้วิธีนี้ในรัชสมัยของสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบ็ธที่ 1
นอกจากนี้ Martin Luther ยังได้เปลี่ยนคำสวดในพิธีทางศานาจากภาษาละตินเป็นภาษาเยอรมันโดยนำมาจาก Chant เดิม ต่อมาเพื่อให้ชาวบ้านสามารถคุ้นเคยได้ง่ายจึงนำทำนองชาวบ้านมาใช้ในเพลงสวดเรียกว่า Chorale ซึ่งมีอยู่สองชนิดคือ แต่งทำนองขึ้นมาใหม่ โดยมาก Martin Luther มักจะเป็นผู้แต่งใหม่ แบบที่สองคือ Contrafacta เป็นการนำทำนอง Chant เดิมมาใช้หรือการนำทำนองที่ชาวบ้านคุ้นเคยอยู่แล้วมาใส่คำสวดภาษาเยอรมัน นอกจาก Martin Luther ที่แต่งทำนองใหม่เองแล้ว ยังมีนักประพันธ์เพลงชาวเยอรมันอีกสองคนที่แต่ง Chorale คือ Hans leo Hassler และ Michael Praetorius การเรียกแนวต่างๆของเพลงสวดก็ถูกเปลี่ยนชื่อด้วยเช่นกัน เช่น Duplum ถูกเปลี่ยนเป็น Bicinium ,Triplum ถูกเปลี่ยนเป็น Tricinium เป็นต้น
บท Chorale ของ Martin Luther ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ Ein’feste burg ist unser Gott (A mighty fortressis our God) Chorale บทนี้เป็นบทที่สำคัญมากที่สุดเปรียบได้กับสัญลักษณ์ของการปฏิรูปศาสนา (Reformation) นอกจากนี้ยังส่งอิทธิพลต่อนักประพันธ์เพลงหลายคนได้นำ Chorale บทนี้ไปใช้ในผลงานของตนเพื่อใช้สื่อสารถึงการปฎิรูปศาสนา นักประพันธ์เพลงจำนวนมากที่นำ Chorale บทนี้ไปใช้ในผลงานของตน เช่น Johann Walter ได้นำไปใช้ใน Geistliches Gesangbuchlein และ Lupus Hellinck ได้ใช้ทำนองนี้และจัดพิมพ์โดย George Rhaw รวมอยู่ใน Newe deudsche geistliche Gesang จัดพิมพ์เมื่อปี 1544 ทั้งสองคนนี้อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน
นอกจากนักประพันธ์เพลงรุ่นหลังก็ยังคงนิยมนำ Chorale บทนี้ไปใช้ในงานของตนเช่น

Johann Pachebel นักประพันธ์เพลงและนัก organ ชาวเยอรมันในช่วงยุคบาโรค นำมาทำเป็น Chorale prelude
Dietrich Buxtehude นักประพันธ์เพลงในยุคบาโรคได้ประพันธ์เพลง Organ Chorale BuxWV. 184 โดยใช้ทำนองจาก Chorale บทนี้
Johann Sebastian Bach นักประพันธ์เพลงในช่วงปลายยุคบาโรคได้นำ Chorale บทนี้ไปใช้ใน Chorale Cantata BWV. 80 , Choralgesange BWV.302-303 (for 4 voices) , Chorale Prelude BWV. 720 for Organ ซึ่งต่อมา Leopold Stokowski ผู้อำนวยเพลงที่มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 20 และเป็น orchestrator ที่มีชื่อเสียงด้วย ได้นำไปเรียบเรียงสำหรับวงดุริยางค์
J.L.Felix Mendelssohn-Bartholdy นักประพันธ์เพลงในยุคโรแมนติก ได้นำทำนอง Chorale บทนี้มาใช้ในท่อนสุดท้ายของ Symphony no. 5 in D minor “Reformation” op.107 เพื่อการรำลึกถึงการปฏิรูปศาสนานำโดย Martin Luther
Joseph Joachim Raff นักประพันธ์เพลงและครูสอนดนตรีในยุคโรแมนติกได้ประพันธ์ Overture “Ein’feste burg ist unser Gott”op.127
Giacomo Meyerbeer นักประพันธ์อุปรากรในยุคโรแมนติกได้นำ Chorale บทนี้ไปใช้ในมหาอุปรากร 5 องก์ เรื่อง Les Huguenots (Protestants) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างคริสจักรสองนิกายคือ Catholic และ Protestants ในช่วงศตวรรษที่ 16
Richard Wagner นักประพันธ์อุปรากรเยอรมันในยุคโรแมนติกตอนปลาย ได้นำ Chorale บทนี้มาใช้ใน Kaisermarsch ประพันธ์เมื่อปี 1871 เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะของเยอรมันในสงคราม Franco-Prussian ในปี 1870 และการกลับมาของ Kaiser Wilhelm I
Max Reger นักประพันธ์เพลงในยุคโรแมนติกตอนปลาย ได้นำทำนอง Chorale บทนี้มาประพันธ์สำหรับ Organ ในบทเพลง Chorale Fantasia “Ein’feste burg ist unser Gott” op. 27 และ Chorale op.67 no.6
Ralph Vaughan William นักประพันธ์เพลงในช่วงยุคศตวรรษที่ 20 ตอนต้น ได้นำทำนอง Chorale บทนี้ไปใช้ในเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง 49 Parallel มี้เนื้อหาเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำนอง Chorale นี้ถูกใช้ตอนต้นเรื่องในฉากเรือ U ของเยอรมันได้โจมตีอ่าว Hudson
Flor Peeters นักประพันธ์เพลงในยุคศตวรรษที่ 20 ได้นำทำนอง Chorale บทนี้ไปใช้ใน Organ Chorale ซึ่งอยู่ใน 10 Chorale Prelude op.69 ตีพิมพ์ในปี 1949
John Zdechlik นักประพันธ์เพลงสำหรับวงดุริยางค์เครื่องเป่า ได้นำทำนอง Chorale บทนี้ไปใช้ในผลงานของตัวเองหลายชิ้นเช่น Psalm 46
Bradley Joseph ได้เรียบเรียง Chorale บทนี้สำหรับเครื่องดนตรีรวมอยู่ในอัลบัม Hymns and Spiritual songs.

Ein’feste Burg ist unser Gott

Ein’feste Burg ist unser Gott,
ein gute Wehr und Waffen.
Er hilft uns frei aus aller Nott,
die uns jetzt hat betroffen.
Der alt bose Feind,
mit Ernst ers jetzt meint;
gross Macht und viel List sein grausam Rustung ist;
auf Erd ist nicht seins Gleichen.

Gioseffo Zarlino (1517-1590)

Gioseffo Zarlino เป็นนักทฤษฏีดนตรีและนักประพันธ์เพลงชาวอิตาเลี่ยนมีชีวิตอยู่ในช่วงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ เขาเป็นผู้ที่ริเริ่มการเขียนลีลาสอดประสานแนวทำนอง (counterpoint)ในช่วงศตวรรษที่16 และเป็นนักทฤษฎีดนตรีที่ถูกอ้างอิงมากที่สุดในตำราการประสานเสียงของ Jean Philippe Rameau เขาได้เขียนตำราไว้มากมายโดยเฉพาะตำรา Le istitutioni harmoniche (1558) ซึ่งเป็นตำราที่สำคัญมากในประวัติศาสตร์ของทฤษฎีดนตรี โดยเนื้อหาภายในกล่าวถึงการผสมผสานหลักการด้านทฤษฎีดนตรีของยุคก่อนหน้ากับทฤษฎีดนตรีในสมัยใหม่และการเขียนลีลาสอดประสานแนวทำนอง
Gioseffo Zarlino เกิดที่ Chiogia แต่ไม่มีเอกสารฉบับใดระบุว่าเกิดในปีไหนได้แน่ชัดแต่สัณนิษฐานว่าเกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม คศ.1517 เขาเรียนภาษากับ Giacobo Eterno Sanese เรียนวิชาคณิตศาสตร์และเรขาคณิตกับ Giorgio Atanagi และเรียนดนตรีกับ Francesco Maria Delfico เขาได้เป็นนักร้องของโบถส์ประจำเมือง Chioggia เมื่อเดือนกรกฎาคม คศ.1536 และเป็นนักออร์แกนในปี 1539-40 และเขาได้บวชเมื่อปี 1540 ต่อมาเขาย้ายไปที่เมือง Venice ในปี1541 และเป็นลูกศิษฐ์ของ Willaert นอกจากนี้ยังเรียนวิชาตรรกะและปรัชญากับ Cristoforo da Ligname เรียนภาษากรีกกับ Guglielmo Fiammingo และ ภาษาฮิบรูกับ หลานของ Elia Tesbite ต่อมาเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าวงขับร้องประสานเสียง (maestro di cappella) ประจำโบถส์ St. Mark’s ในเมือง Venice ในวันที่ 5 กรกฎาคม 1565 จนกระทั่งเสียชีวิต เขามีลูกศิษฐ์ที่สำคัญคือ Claudio Merulo, Giovanni Croce, Girolamo Diruta, Vincenzo Galilei และ G.M. Artusi เป็นต้น
ผลงานที่สำคัญของ Gioseffo Zarlino คือ ตำราทฎษฎีดนตรี istitutioni harmoniche ซึ่งพิมพ์ในปี 1558 เป็นผลงานชิ้นที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตรของทฤษฎีดนตรี ในสองส่วนแรกจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับทฤษฎีดนตรีในยุคก่อนโดยส่วนแรกจะกล่าวถึงปรัชญา วิชาเกี่ยวกับการกำเนิดจักรวาล และพื้นฐานทางดนตรีในทางคณิตศาสตร์ ส่วนที่สองจะกล่าวถึงระบบเสียงของดนตรีกรีกโดยอธบายในทฤษฎีของ consonance สมัยใหม่
ก่อนหน้านี้ ขั้นคู่ 3 และ ขั้นคู่ 6 ถือว่าไม่ใช่ขั้นคู่ consonance ตามกฎของ Pythagorus แต่ Zarlino ได้พยายามหาวิธีอธิบายเพื่อที่จะทำให้ขั้นคู่ 3 และ ขั้นคู่ 6 กลายเป็นคู่เสียงกลมกลืนได้โดยใช้คำว่า imperfect consonance และเพื่อที่จะนำไปใช้ในการเขียนเสียงประสานแบบใหม่ได้ Zarlino ได้อธิบายว่ากฎของ Pythagorus มีข้อจำกัดในการอธิบายขั้นคู่ consonance โดยอธิบายกับเครื่องสายในสมัยนั้นว่า ขั้นคู่ consonance สามารถเกิดขึ้นได้จากการแบ่งสาย 4 ช่วงในหนึ่งสายถ้าแบ่ง 2:1 จะได้คู่ octave ถ้าแบ่ง 3:2 จะได้คู่ 5th ถ้าแบ่ง 4:3 จะได้คู่ octave บวกอีก 5th และถ้าแบ่ง 4:1 จะได้คู่ 2 octave Zarlino ได้ขยายข้อจำกัดออกไปอีกจากเดิมเป็น 6 ช่วง การเพิ่มเป็น 6 ช่วงทำให้เกิดขั้นคู่ major 3rd ถ้าแบ่ง 5:4 เกิดขึ้นคู่ minor 3rd ถ้าแบ่ง 6:5 เกิดขั้นคู่ major 6th ถ้าแบ่ง 5:3 และเกิดขั้นคู่ minor 6th ถ้าแบ่ง 8:5 การแบ่ง 6 ช่วงของสายทำให้เกิดคำว่า sonorous number ( numero sonoro ) ซึ่งประกอบไปด้วย octave, 5th, 4th, major 3rd และ minor 3rd
ต่อมา Zarlino ได้นำขั้นคู่ major 3rd ไปไว้เหนือคู่ minor 3rd และลองวางขั้นคู่ major 3rd อยู่ใต้คู่ minor 3rd ทำให้พบ Zarlino คำอธิบายเมื่อเทียบกับความหมายในทางคณิตศาสตร์และการประสานเสียง Zarlinoได้อธิบายว่าถ้ามีสามโน้ตเช่น C,E,G แล้วนำไปเทียบกับความยาวของสายของเครื่องสายคือ 30,24,20 24 เป็นตัวที่สำคัญที่สุดในระบบการประสานเสียง Zarlino ได้อธิบายเรื่องนี้ในตำรา Diamostrationi harmoniche (1571) และตำราเล่มนี้ยังได้เปลี่ยนวิธีการเรียง mode ใหม่จากระบบของ Beothius โดยเริ่มจาก C authentic โหมดที่ 1 C plagal คือ โหมดที่ 2 D authentic คือ โหมดที่ 3 ไปเรื่อยๆ Zarliono ได้ให้ ut จากระบบ solmization เป็นตัวเริ่มต้นทฤษฎีนี้ต่อมา Zarlono ได้นำไปใช้ใน counterpoint ด้วย

Guido d' Arezzo


Guido d' Arezzo เป็นนักบวช ครู และนักทฤษฎีดนตรีที่สำคัญคนหนึ่งในยุคกลาง เป็นผู้ริเริ่มการบันทึกทำนองโดยใช้สัญลักษณ์ลงบนบรรทัดเพื่อกำหนดระดับเสียง และใช้คำแทนระดับเสียงเช่น โด เร มี ฟา โซ ลา เพื่อบันทึกบทเพลงสวด นอกจากนี้เขายังได้แต่งแบบฝึกหัดสำหรับฝึกร้องสำหรับสมัยนั้นไว้เป็นจำนวนมากอีกด้วย
Guido เริ่มเรียนที่โบสถ์ Benedictine แห่งเมือง Pompasa ขณะที่อยู่นี่เขาได้ศึกษาการร้องได้อย่างรวดเร็ว และเขาได้เริ่มคิดค้นวิธีการบันทึกแบบใหม่ด้วย ต่อมาในช่วงปี 1025 เขาได้ย้ายไปที่ เมือง Arezzo และได้รับการอุปถัมป์จาก Theodaldus ซึ่งเป็น Bishop of Arezzo และได้ฝึกนักร้องสำหรบโบสถ์ประจำเมือง เขาได้เขียน Micrologus ส่งให้กับ Theodaldus ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวทางของการฝึกร้องสำหรับนักร้อง รวมทั้งวิธีการอ่านโน้ต ขั้นคู่ บันไดเสียง โหมด การหัดแต่งทำนอง และการด้นสด รวมอยู่ ไม่นานนักเขาถูกเรียกไปที่กรุงโรมโดยสมเด็จพระสันตปาปา John XIX เพื่อสอนวิธีการบันทึกในแบบของเขา แต่ด้วยปัญหาสุขภาพและความชื้นในอากาศสูงเขาจึงกลับไปและได้สัญญากับพระสันตปาปาว่าจะกลับไปในฤดูหนาวเพื่อสอนวิธ๊การบันทึกในแบบของเขาให้กับพระองค์และนักบวชรูปอื่นๆด้วยจึงทำให้วิธีการบันทึกแบบนี้เป็นที่แพร่หลาย
ก่อนที่ถึงช่วงของ Guido d'Arezzo นั้นได้มีการพัฒนาวิธีการบันทึกบทสวดในแบบต่างๆ ในตอนแรกการบันทึกบทสวดจะใช้วิธีการบันทึกเป็นคำสวดภาษาละตินแล้วใช้ neume ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่แสดงการขึ้นลงของเสียงร้อง ในด้านของจังหวะยังไม่มีการกำหนดยังไม่มีการใช้เครื่องหมายกำหนดจังหวะ แต่ในช่วงประมาณศตวรรษที่ 12 มีกลุ่มของนักทฤษฎีสองกลุ่มที่มีความคิดเรื่องจังหวะ กลุ่มแรกคือ Mensuralist ที่เชื่อว่าสามรถจัดกลุ่มความยาวได้ กลุ่มที่สองคือ Accentualist ได้เสนอว่าจังหวะควรควบคุมโดนการเน้นจากการพูดแบ่งได้ 3 แบบคือ Sillabic หรือหนึ่งคำต่อหนึ่งโน้ต Neumatic หรือ 2-4 โน้ตต่อหนึ่งคำ และ Melismatic หรือการเอื้อนโดยจะเน้นที่ตัวแรกของ Neumes
ผลงานที่สำคัญของ Guido คือ การบันทึกบทสวดโดยการใช้สัญลักษณ์ในการกำหนดทิศทางของทำนอง คำสวดจะอยู่ใต้สัญลักษณ์ของทำนอง บรรทัดที่ใช้มี 4 บรรทัด ใช้กุญแจ (Clef) 2 กุญแจคือ กุญแจโด (C Clef)และ กุญแจฟา (Bass Clef)ใช้คำแทนระดับเสียง คือ ut re mi fa sol la แต่ยังไม่ใช้ Ti(Si)เพราะจะทำให้เกิดขั้นคู่เสียงกระด้างคือขั้นคู่ Tritone ซึ่งเป็นข้อห้ามในสมัยนั้นแต่แก้ด้วยการใส่เครื่องหมายแฟลต นอกจากนี้เขายังได้ประพันธ์แบบฝึกหัดสำหรับการฝึกร้องอีกด้วย หนึ่งในแบบฝึกหัดที่สำคัญคือเพลงสวด Hymn Ut Queant laxis ซึ่งในบทสวดนี้ในพยางค์แรกของในแต่ละวลีจะขึ้นด้วย ut re mi fa sol la จึงเป็นต้นกำเนิดของคำที่ใช้แทนระดับเสียงที่เรียกว่า Solmization และทำให้เกิดระบบ Solfegio ขึ้น

Hymn Ut Queant laxis

Ut queant laxis (Ut)
Resonare fibris (Re)
Mira gestarum (Mi)
Famuli tuorum (Fa)
Solve polluri (Sol)
Labii reatum (La)
Sancte Iohannes (Si)

โดยในตำราทฤษฎีดนตรี Epistola de ignoto cantu ได้อธิบายระบบนี้นอกจากนี้เขายังได้เขียนตำราทฤษฎีดนตรีหลายเล่ม เช่น Micrologus de disciplina artis musicae, Item aliae Regulae de ignoto cantu, Prologus in antiphonario เป็นต้น
นอกจากนี้ Guido ยังได้พัฒนาระบบ hexachord อีกด้วย โดยที่ในเพลงสวดจะมีสามจุดที่ห่างครึ่งเสียงคือ E-F,B-C,และ A-Bb โดยระบบ hexachord ประกอบไปด้วย 6 โน้ตตั้งแต่ ut-la สามารถพบได้สามตำแหน่งคือ เริ่มที่ C หรือที่เรียกว่า natural hexachord เริ่มที่ G เรียกว่า hard hexachord โดยใช้ B-natural และเริ่มที่ F เรียกว่า soft hexachord โดยใช้ B-flat โน้ตตัวแรกของ hexachord จะเรียกว่า gamma

Hexachord System

1.C D E F G A (natural)
2.G A B C D E (hard)
3.F G A BbC D (soft)

ถ้าเทียบกับระบบปัจจุบันจะเริ่มจากโน๊ต G บนเส้นในกุญแจฟาไปจนจนถึง E ในช่องของกุญแจโซล ระบบวิธีการสอนในการคิดระบบนี้ Guido ได้อธิบายใน Guidonian hand เพื่อเป็นสื่อการสอนเพื่อให้เข้าใจวิธีคิดระบบ hexachord ได้ง่าย
Guidonian Hand คือระบบทีช่วยจำระดับเสียง โดยกำหนดลงบนมือซ้ายเป็นหนึ่งในวิธีการเรียนการสอนดนตรีในยุคกลาง พัฒนาวิธีการสอนโดย Guido d' Arezzo โดยการตั้งชื่อโน้ตให้สัมพันธ์กับส่วนต่างๆของมือ โดยเฉพาะระบบ hexachord

Byzantine Chant

จักรวรรดิ์ไบซันไทน์ (Byzantine Empire) หรือจักรวรรดิ์โรมันตะวันออก (Eastern Roman Empire) เกิดขึ้นโดยจักรพรรดิ์ของโรมัน พระเจ้าคอนสแตนตินมหาราชผู้เลื่อมใสในคริสตศาสนา ได้สร้างเมืองในบริเวณของของเมืองเก่าของอารยธรรมกรีกที่ชื่อไบซันทิอุมโดยมีกรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิ์ ในขณะที่จักรวรรดิ์โรมันตะวันตก (Western Roman Empire) มีศูนย์กลางที่กรุงโรม ต่อมากรุงโรมล่มสลายโดยกลุ่มอนารยชนเข้าโจมตีและเข้ายึด ทำให้นักปราชญ์และผู้รู้ต่างก็อพยพมาทางฝั่งตะวันออกในจักรวรรดิ์ไบซันไทน์ แต่จักรวรรดิ์นี้มีการป้องกันที่เข้มแข็งและมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาวุธซึ่งครั้งหนึ่งสามารถทำลายกองเรือของศัตรูจนย่อยยับได้สำเร็จ กองทัพของของอาหรับได้พยายามตีหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ แต่ต่อมาส่วนหนึ่งของอาณาจักรรวมทั้งกรุงคอนสแตนติโนเปิลก็ถูกยึดโดยพวกออตโตมัน เติร์ก กรุงคอนสแตนติโนเปิลต่อมากลายเป็นอิสตันบูลของชาวมุสลิมในปัจจุบัน
ไบซันไทน์ ชานท์ (Byzantine Chant)เป็นบทสวดในพิธีทางศาสนาของคริสตศาสนิกชนในจักรวรรดิ์ไบซันไทน์ซึ่งไม่ขึ้นกับสมเด็จพระสันตะปาปาที่อยูในกรุงโรมโดยบทสวดนั้นใช้ภาษากรีกแต่ภายหลังได้มีการแปลอีกหลายภาษาเช่น ซีเรีย อารบิก อาร์เมเนียน สลาฟ เป็นต้น บทสวดนี้ปรากฎเมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 4 จนถึงช่วงที่อิทธิพลของจักรวรรดิออตโตมันแผ่ขายาเข้ามาในช่วงปี 1453 หลักฐานที่ค้นพบเป็นต้นฉบับที่มีการบันทึกบทสวดเหล่านั้นประมาณ 12000-15000 ฉบับโดย 10 เปอร์เซนท์ นั้นพบว่าอยู่ในช่วงปี 1200-1500 วิธีการที่บันทึกนั้นแตกต่างจากเกรกอเรียน ชานท์ (Gregorian Chant) โดยมีการบันทึกสองแบบคือการบันทึกบทสวด (Lectionary Notation) หรือ (Ekphonetic) เป็นการบันทึกเป็นคำสวดไม่มีการบอกทิศทางของทำนอง การบันทึกแบบนี้ใช้ในการศึกษาพระคัมภีร์ เริ่มมีการใช้วิธีนี้ในช่วงศตวรรษที่ 8-9 จนถึงช่วงศตวรรษที่ 12-13 การบันทึกแบบนี้ในทุกประโยคจะมีเครื่องหมายที่บอกเมื่อเริ่มต้นประโยคและเครื่องหมายจบประโยค วิธีการบันทึกลักษณะนี้มาจากวิธีแบบ old Slavonic และ Georgian วิธีการบันทึกแบบที่สองคือการบันทึกทำนอง (Melodic Notation) เป็นการบันทึกคำสวดพร้อมทั้งบอกวิธีการเอื้อนและทิศทางของทำนอง เริ่มปรากฎในศตวรรษที่ 10 เมื่อมีการถอดการบันทึกแบบทำนองพบว่ามีการใช้โหมด (Mode) 8 โหมดมีโน้ต Finalis ซึ่งโน้ตที่สำคัญของโหมดแต่ละโหมด อยู่ 4 ตัวคือ D,E,Fและ G มีทั้งโหมดหลัก (authentic mode) และ โหมดรอง (plagal mode) ลักษณะของทำนองในไบวันไทน์ ชานท์ นั้นจะมาจากลักษณะของ Centonization (Patchwork) หรือการตัดต่อทำนอง ซึ่งคำนี้มาจากคำว่า Cento ในภาษาละตินแปลว่าเพลงที่ยืมทำนองในเพลงอื่นมาใช้ซึ่งการใช้ในไบแซนไทน์ ชานท์อาจจะเป็นทำนองจากชานท์มาตัดต่อก็ได้ เพลงในลักษณะนี้ก็มักจะปรากฎอยู่ในเพลงนอกโบถส์เป็นจำนวนมากเช่นกัน
ลักษณะของไบแซนไทน์ยังคงมีอิทธิพลของกรีก-โรมันอยู่ของบ้างและมีลักษณะที่ต่างกับเกรกอเรียน ชานท์หลายอย่าง โดยเฉพาะภาษา แต่ต่อมาเพลงลักษณะนี้ได้ปรากฎอีกครั้งหลังจากที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลถูกพวกออตโตมัน เติร์กเข้ายึด ทำให้แนวคิด ปรัชญาต่างเริ่มกลับเข้าสู่ฝั่งตะวันตกอีกครั้งโดยส่วนใหญ่จะรวมกันที่อิตาลี ซึ่งเป็นจักรวรรดิ์โรมันเดิม ทำให้อิตาลีมีนักคิด นักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์ต่างๆ เป็นจำนวนมากและกลายเป็นศูนย์รวมของความรู้ต่างๆของยุโรป